shopup.com

ดูบทความการถมดินเพื่อเตรียมการก่อนสร้างบ้าน

การถมดินเพื่อเตรียมการก่อนสร้างบ้าน

การถมดินสร้างบ้าน ถมดินปลูกบ้าน ถมที่สร้างบ้าน ถมที่ปลูกบ้าน จุดประสงค์หลักก็เพื่อยกระดับพื้นที่ดินให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมไหลเข้าบ้าน และเพื่อให้การวางท่อระบายน้ำภายในบ้านอยู่สูงกว่าถนน โดยให้ลาดเอียงไหลไปได้สะดวกสู่ท่อระบายน้ำหน้าบ้าน และประโยชน์ของการถมดินใหม่เพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งคือการช่วยเร่งการทรุดตัวของพื้นดินเดิม เนื่องจากมีน้ำหนักไปกดทับพื้นดินเดิมที่ยังไม่แน่นดีพอให้ยุบตัวลงไปได้เร็วขึ้น โดยทั่วไปการถมที่ดินจะให้มีระดับความสูงกว่าถนนหน้าบ้านประมาณ 50 - 80 เซ็นติเมตร หรือบางแห่งต้องถมดินเผื่อไว้รองรับอนาคตสูงมากกว่า 1 เมตรจากพื้นดินเดิม ซึ่งควรตรวจสอบปัจจัยสภาพแวดล้อมต่างๆ ประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดระดับความสูงที่เหมาะสมและประหยัดงบประมาณ เช่น
 
1. ตรวจสอบเบื้องต้นด้วยสายตาโดยการสังเกตุจากต้นไม้ที่ขึ้นในที่ดินแปลงนั้น หากเห็นต้นกระถิน ต้นมะขามเทศ แสดงว่าพื้นดินบริเวณนั้นแห้ง หากเห็นต้นกก ต้นอ้อ ต้นธูปฤาษี แสดงว่าเป็นพื้นที่ชื้นแฉะ สภาพดินมีความอ่อนตัว สอบถามผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้นว่าพื้นที่ดินแปลงนั้นเคยเกิดปัญหาน้ำท่วมหรือไม่ หากเคยท่วมระดับความสูงเท่าไร ที่ดินมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปีหรือไม่ กรณีมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี โดยทั่วไปในบริเวณที่มีน้ำแช่ขังตลอดนั้นจะส่งผลให้ดินมีความอ่อนตัวสูงและแปรสภาพเป็นดินโคลนหรือเลน ให้ตรวจสอบโดยการใช้ไม้ปักลงไปแล้วดูที่ปลายไม้ว่ามีดินเลนสีดำติดมาสูงเท่าไร ซึ่งที่ดินในลักษณะนี้จะมีสภาพพื้นดินเดิมอ่อนตัวสูงมาก และส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายจากการถมที่ดินมากกว่าที่ดินแปลงปกติทั่วไป เนื่องจากดินใหม่ที่ถมลงไปจะมีน้ำหนักไปกดทับพื้นดินเดิมซึ่งอ่อนตัวอยู่แล้ว ส่งผลให้พื้นดินเดิมยุบหรือทรุดลงไปอีก การเผื่อค่ายุบตัวของดินก็จะถูกประเมินเป็นเปอร์เซ็นที่มากกว่าที่ดินแปลงปกติที่มีสภาพพื้นดินเดิมมีความแน่นอยู่แล้ว 
     ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจซื้อที่ดินตามลักษณะดังกล่าวควรพิจารณาราคาที่ดินแปลงนั้นว่าจะต้องมีราคาถูกกว่าที่ดินแปลงอื่นที่ปกติไม่มีน้ำขังซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันและมีขนาดที่ดินใกล้เคียงกัน และเมื่อบวกค่าใช้จ่ายในการถมดินที่มีราคาสูงมากกว่าราคาที่ดินแปลงปกติทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 1 - 3 เท่า ก็จะสามารถเปรียบเทียบกับที่ดินแปลงอื่นที่ปกติได้ว่าราคาถูกกว่าจริงหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปที่ดินแปลงปกติที่ประกาศขายเมื่อผู้จะซื้อได้คำนวณปัจจัยต่างๆ เปรียบเทียบราคากับที่ดินแปลงอื่นๆ ในบริเวณเดียวกัน ที่ดินแปลงที่ราคาเหมาะสมที่สุดจะเกิดการตกลงซื้อขายไปก่อนเสมอ
     อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากเสียเวลาก็ควรหลีกเลี่ยงการซื้อที่ดินที่เป็น บ่อ บึง หรือมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี เนื่องจากจะเสียค่าใช้จ่ายค่าถมดินสูงมากกว่าที่ดินแปลงปกติทั่วไป และการประเมินราคาค่าถมดินของผู้รับเหมาถมดินแต่ละรายจะไม่ใกล้เคียงกัน ราคาจะแตกต่างกันมากหลักหมื่นหรือหลักแสน เนื่องจากผู้รับเหมาถมดินต้องตีราคาเผื่อค่ายุบตัวของดินไว้เพื่อป้องกันการขาดทุนจากปัจจัยลักษณะสภาพดินที่อ่อนตัวไม่มีความแน่นอน หรือหากถมดินแบบนับเป็นคันรถ หรือเป็นคิว ผู้ว่าจ้างก็มีโอกาสสูงที่งบประมาณจะบานปลาย ซึ่งจะแตกต่างจากลักษณะที่ดินแปลงปกติทั่วไป ที่ผู้รับเหมาถมดินสามารถประเมินราคาได้ตามเกณฑ์ราคาเผื่อค่ายุบตัวของดินตามปกติทั่วไป และกรณีที่ใช้แหล่งดินมาจากที่เดียวกัน ราคาที่ประเมินของผู้รับเหมาถมดินแต่ละรายจะใกล้เคียงกันมาก แตกต่างกันเพียงหลักพันเท่านั้น หากสเปกการบดอัดเหมือนกัน และลักษณะสภาพแวดล้อมของที่ดินไม่มีอุปสรรคต่อการทำงาน
 
2. ตรวจสอบถนนหน้าบ้านว่ามีการวางท่อระบายน้ำทั้ง 2 ฝั่งถนนหรือยัง หากยังไม่มีแสดงว่ามีโอกาสทำถนนใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปการทำถนนใหม่จะมีการยกระดับพื้นถนนสูงขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 30 เซ็นติเมตร ดังนั้นจึงต้องถมที่ดินให้สูงเผื่อไว้ให้เหมาะสมกับอนาคต
 
3. ตรวจสอบเพื่อนบ้านใกล้เคียงว่าถมที่ดินไว้ระดับสูงเท่าไร และที่ดินแปลงที่ว่างใกล้เคียงที่ยังไม่ได้ก่อสร้างมีหรือไม่ เนื่องจากโดยปกติทั่วไปการก่อสร้างทีหลังก็จะถมดินให้มีระดับเท่ากันหรือสูงกว่าเพื่อนบ้าน
 
4. กรณีซื้อที่ดินที่อยู่ในโครงการหมู่บ้าน ก่อนโอนที่ดินควรตรวจสอบระเบียบของนิติบุคคลหมู่บ้าน จากคณะกรรมการหมู่บ้านว่ามีเงื่อนไขเรื่องการถมดินว่าห้ามรถบรรทุกสิบล้อวิ่งเข้าไปภายในโครงการหมู่บ้านหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปจะอนุญาตให้รถบรรทุกหกล้อขนาดบรรทุกดินประมาณ 5 คิว เข้าไปได้ และจะมีการเก็บเงินมัดจำจากเจ้าของที่ดินไว้ แต่บางโครงการหมู่บ้านจะมีระเบียบการเรียกเก็บเงินค่าผ่านทางเป็นค่าธรรมเนียมโดยไม่มีการคืนเงินให้กับเจ้าของที่ดิน
 
5. กรณีซื้อที่ดินที่ไม่ได้อยู่ในโครงการหมู่บ้าน ก่อนโอนที่ดินควรสอบถามข้อมูลจากร้านค้าบริเวณซอยแถวนั้นว่ามีผู้นำชุมชนหรือไม่ หากมีให้ไปสอบถามว่ามีระเบียบเงื่อนไขเรื่องการถมดินและการก่อสร้างหรือไม่ เนื่องจากหากมีระเบียบห้ามรถบรรทุกสิบล้อเข้าไปในพื้นที่ หรือมีถนนเล็กแคบรถบรรทุกสิบล้อเข้าไปไม่ได้ จะส่งผลต่อค่าขนส่งวัสดุก่อสร้างที่ต้องใช้รถบรรทุกหกล้อซึ่งจะมีจำนวนเที่ยวมากขึ้น ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการทำงานย่อมเพิ่มขึ้นตาม ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานรัฐผู้รับเหมาถมดินจะดำเนินการแทนผู้ว่าจ้างให้เอง
 
6. กรณีซื้อที่ดินแปลงที่อยู่ติดกับริมคลอง จะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับกำแพงกันดิน (ไม่ใช่รั้วบ้าน) ซึ่งจะต้องดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันดินให้แล้วเสร็จก่อนการถมที่ดิน เพื่อป้องกันดินที่ถมไว้ไหลลงคลอง ส่วนกรณีรั้วบ้านจะก่อสร้างในภายหลังเพื่อความสะดวกในการขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเข้าออก
 
7. ลักษณะสภาพที่ดินแปลงที่เป็น บ่อ บึง มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี เมื่อได้มีการถมที่ดินไปแล้ว ไม่ว่าก่อนถมที่ดินจะมีการลอกเลนออกก่อน หรือใช้วิธีการถมดินไล่เลนแล้วตักเลนออก แม้ว่าจะเลือกใช้วัสดุราคาสูง เช่น ดินลูกรังหรือทรายและมีการบดอัดดินไปแล้วก็ไม่ควรรีบก่อสร้างบ้านโดยทันที เนื่องจากสภาพพื้นดินเดิมมีความอ่อนตัวมากซึ่งจะมีการยุบตัวของพื้นดินเดิมลงไปอีกมาก ควรรออย่างน้อย 2 ปี หรือให้ผ่านฤดูฝนไปประมาณ 2 ครั้ง แต่หากไม่รอระยะเวลาดินยุบตัว รีบก่อสร้างเลยก็จะต้องใช้งบประมาณสูงมากๆ โดยวิธีลอกเลนออกทั้งหมดและขุดเอาดินที่มีความอ่อนตัวออกไปด้วยจนถึงชั้นดินแข็ง ซึ่งจะขุดลึกเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเจาะสำรวจชั้นดิน และการกำหนดสเปกการบดอัดดินให้แน่นก็จะสูงกว่าปกติทั่วไป ตัวอย่างเช่น การก่อสร้างถนนเมื่อแล้วเสร็จก็สามารถให้รถยนต์วิ่งได้เลย
     แต่กรณีที่ดินแปลงปกติทั่วไปที่พื้นดินเดิมมีความแน่นดีอยู่แล้ว เมื่อได้มีการถมดินและบดอัดดินในสเปกทั่วไปก็สามารถดำเนินการก่อสร้างบ้านได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ดินใหม่ที่ถมไว้ยุบตัว โดยทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีสภาพดินอ่อนตัว ดังนั้นตัวโครงสร้างอาคารบ้านจะถูกกำหนดให้มีเสาเข็มยาวลึกลงไปถึงชั้นดินดานหรือชั้นทรายเฉลี่ยประมาณ 18 - 21 เมตร เพื่อรองรับน้ำหนักตัวอาคารบ้าน ซึ่งจะทรุดตัวในช่วงแรกเพียงเล็กน้อยแล้วหยุดการทรุดตัว ส่วนบริเวณพื้นที่ลานจอดรถหรือถนนทางเข้าบ้าน และบริเวณลานซักล้างหลังบ้าน กรณีที่ไม่มีเสาเข็มรองรับน้ำหนัก ก่อนการเทพื้นบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะเป็นงานก่อสร้างภายหลังจากตัวอาคารบ้านเสร็จแล้วหรือช่วงงวดงานท้ายๆ ระยะเวลาก่อสร้างที่ผ่านมาหลายเดือน ดินที่ถมไว้ได้ยุบตัวไปแล้วระดับหนึ่ง แต่เพื่อป้องกันปัญหาพื้นทรุดแตกร้าวในอนาคต ผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องใช้เครื่องตบดินบดอัดดินให้แน่นก่อนดำเนินการเทพื้น
     อย่างไรก็ตาม วิธีที่ป้องกันปัญหาพื้นทรุดตัวในอนาคตที่ดีที่สุดคือการมีเสาเข็มรองรับน้ำหนักบริเวณดังกล่าว แต่งบประมาณก่อสร้างก็จะสูงขึ้น ส่วนความลึกของเสาเข็มจะเป็นเท่าไรนั้น ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล การเจาะสำรวจดินเพื่อตรวจสอบสภาพของชั้นดินเพื่อนำมาวิเคราะห์หาค่าสมบัติทางวิศวกรรมของชั้นดิน ผลการตรวจสอบที่ได้จะทำให้วิศกรผู้ออกแบบงานฐานราก สามารถคำนวณออกแบบความสามารถการรับน้ำหนักบรรทุกของชั้นดินที่จะรองรับตัวอาคารหรือบริเวณที่จะทำการก่อสร้างได้อย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมมากที่สุด
     โดยเฉพาะหากสืบทราบว่าที่ดินแปลงนั้นเคยเป็นบ่อขยะเก่า บ่อปลาเก่า หรือเคยเป็น คู คลอง หนอง บ่อ บึง มาก่อน ผู้ว่าจ้างควรยอมลงทุนเสียค่าใช้จ่ายการเจาะสำรวจชั้นดิน ไม่ควรประมาทใช้วิธีการหาค่าเฉลี่ยความยาวเสาเข็มโดยการเทียบเคียงกับที่ดินแปลงข้างเคียงที่ก่อสร้างมาแล้ว เนื่องจากความลึกของเสาเข็มอาจไปวางอยู่บนชั้นของบ่อขยะเก่า เมื่อเวลาผ่านไปขยะเกิดการย่อยสลายส่งผลให้เสาเข็มทรุดตัวลงไป หรือกรณีที่ดินบางส่วนเคยเป็นบ่อปลาเก่า แต่ที่ดินบางส่วนเป็นดินแน่นแข็งตามปกติ ใช้เสาเข็มขนาดความยาวเท่ากัน ด้านหนึ่งเสาเข็มวางอยู่บนชั้นดินอ่อนที่เคยเป็นบ่อปลาเก่า ส่วนอีกด้านเสาเข็มวางอยู่บนชั้นดินแข็ง ลักษณะเช่นนี้จะส่งผลให้ฐานรากของเสาเข็มเกิดการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการใช้เสาเข็มที่ยาวเท่ากันจึงยังไม่ถูกต้องเสมอไป แต่ควรให้ปลายเสาเข็มทุกต้นวางอยู่บนชั้นดินชนิดเดียวกัน
     นอกจากนั้น หากต้องการตรวจสอบซ้ำว่า ความลึกของเสาเข็มที่เจาะลงไปจะมีความมั่นคงแข็งแรงและรองรับน้ำหนักตัวอาคารได้ตามมาตรฐานหรือไม่ โดยการวัดระดับน้ำหนักเทียบเท่ากับตัวอาคารที่จะก่อสร้าง ทิ้งดิ่งหรือตั้งลงไปบนเสาเข็ม หากเสาเข็มรับน้ำหนักได้ ก็ถือว่าก่อสร้างได้และมีความปลอดภัย แต่หากไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ก็จะต้องดำเนินการหาวิธีการแก้ไขใหม่
 
8. การใช้เศษอิฐ เศษคอนกรีต จากการทุบตึก ทุบอาคาร ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนนำมาถมที่ดิน จะมีปัญหาการทรุดตัวของดินมากกว่าปกติ เนื่องจากเศษก้อนอิฐ เมื่อทับถมกันจะไม่เป็นเนื้อเดียวกันเหมือนกับดิน แต่เศษอิฐจะขบกันหรือเกยกันอยู่ซึ่งจะมีช่องว่างรอยต่อระหว่างก้อนอิฐทุกก้อน โดยทั่วไปการถมที่ชั้นล่างด้วยเศษอิฐและชั้นบนจะถมดินทับลงไป ในระยะเริ่มแรกนั้นดินจะยังไม่สามารถสอดแทรกเข้าไปเติมเต็มช่องว่างรอยต่อระหว่างก้อนเศษอิฐซึ่งมีความหนาของชั้นเศษอิฐได้ทั้งหมด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ฝนตกลงมา น้ำฝนจะซึมผ่านชั้นดินลงไป และพาดินไหลเข้าไปแทนที่ช่องว่างรอยต่อระหว่างก้อนเศษอิฐ ชั้นดินด้านบนก็จะปรากฎให้เห็นการทรุดตัวเป็นหลุมหรือโพรงใต้ตัวอาคารบ้าน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย เช่น ใต้อาคารบ้าน ท่อประปาแตก ดินไหลลงไปในโพรง สัตว์เลื้อยคลาน งู ตัวเงินตัวทอง เข้าไปทำรังอยู่อาศัย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้เศษก้อนอิฐ เศษก้อนคอนกรีต มาถมที่สร้างบ้าน 
     อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังเป็นที่นิยมนำเศษอฺิฐ เศษคอนกรีต มาถมที่บริเวณที่เป็นบ่อน้ำ เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีราคาถูกกว่าวัสดุชนิดอื่น แต่ขอแนะนำว่า ในอนาคตไม่ควรมีการก่อสร้างอาคารด้านบนบริเวณบ่อน้ำเก่านั้นอีก เนื่องจากหากมีการก่อสร้างบริเวณดังกล่าวอาจเกิดปัญหาเวลาตอกเสาเข็ม เช่น ส่งผลให้เสาเข็มหนีศูนย์เกินกว่าค่าที่กำหนดไว้ตามที่วิศวกรได้ออกแบบ
 
9. ไม่ควรว่าจ้างงานรับเหมาถมดินจากคนขับรถบรรทุก โดยคิดว่าจะได้ในราคาที่ถูกกว่าการว่าจ้างผู้รับเหมาถมดิน เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะคุยกันแล้วไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสัญญาข้อตกลงเพราะไม่ได้มีทักษะในการบริหารจัดการ ควรจ้างผู้รับเหมาถมดินโดยตรงมาบริหารจัดการแทนจะเหมาะสมมากกว่า เนื่องจากกรณีสถานที่บางแห่งอยู่ห่างไกลจากบ่อดิน ผู้รับเหมาถมดินก็สามารถหาแหล่งดินอื่นที่อยู่ใกล้กว่าทดแทนได้ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณให้ผู้ว่าจ้างได้ 
 
 
ข้อความสงวนสิทธิ์ตามกฎหมาย ห้ามไม่ให้มีการคัดลอก ดัดแปลง รูปภาพ ข้อความบางส่วนหรือทั้งหมด ไปใช้แสวงหาประโยชน์ทางการค้า หรือประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ว่าโดยประการใด ๆ ทั้งสิ้น

20 ตุลาคม 2561

ผู้ชม 22640 ครั้ง

Engine by shopup.com